หลักสูตรการศึกษา

การเรียนรู้แบบเลิศหล้า ผู้นำหลักสูตร English Program
คำขวัญ “เลิศล้ำคุณธรรม เลิศหล้าวิชาการ”

1. หลักสูตร และเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้

  • ระดับปฐมวัย หรือ ระดับอนุบาล “อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น”
    มุ่งเน้นให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการตามวัยทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ตามแผนการจัดประสบการณ์สอน เป็นหน่วยการเรียนรู้ 1 หน่วย ต่อ 1 สัปดาห์ ที่โรงเรียนสร้างขึ้น โดยจะนำทักษะชีวิตที่จะต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก และสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของนักเรียนมาประสานเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งของบทเรียน และเรียนรู้ด้วยวิธีธรรมชาติ ผ่านการปฏิบัติจริงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทุกกิจกรรม ประกอบกับการสอดแทรกเนื้อหาวิชาการผนวกเข้าด้วยกันไว้ในบทเรียน ที่เรียกว่า “บูรณาการ” จึงถือเป็นการเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ไปพร้อมๆ กันอย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพ

    ทั้งหมดนี้ เป็นกลไกการเรียนรู้ที่โรงเรียนสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่ถูกยัดเยียดให้ท่องจำ อีกทั้งเด็กจะรู้สึกสนุก ไม่รู้สึกเครียด พร้อมทั้งได้เนื้อหาในส่วนที่ควรจะได้รับรู้อย่างไม่ทันตั้งตัว และทำให้ครูสามารถสังเกตความถนัดของเด็กเป็นรายบุคคล และพัฒนาในด้านนั้นๆ ให้เด่นชัดขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ในระดับประถมศึกษา และคิดสร้างสรรค์ อย่างมีจินตนาการ ในระดับมัธยมศึกษา”
    ด้วยการจัดการเรียนรู้ “หลักสูตรเข้มข้น และวิชาการที่เข้มแข็ง” ครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ คอยชี้แนะ ออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กรู้จักตั้งโจทย์ เรียนรู้ที่จะหาคำตอบ และหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจะมีการเสริมสร้างทักษะในด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามา มีการใช้ iPad และ iTunes ซึ่งพฤติกรรมของนักเรียนวัยประถมศึกษา จะมีความสามารถคิดเหตุผลเชิงตรรกะได้ สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมตามความเป็นจริง สามารถพิจารณาเปรียบเทียบจัดของเป็นกลุ่มโดยใช้เกณฑ์หลายอย่าง เริ่มเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้นการจัดการเรียนในวัยนี้ คุณครูจะเน้นให้เด็กๆ ได้รู้จักการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าด้วยหนังสือ หรือค้นคว้าจากเทคโนโลยี ดังนั้นจึงทำให้เด็กรู้จักการค้นหาข้อมูลผ่านเทคโนโลยี และได้เรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ครูจะให้เด็กตั้งโจทย์คำถามเอง เด็กจะได้เชื่อมโยงทักษะภาษาไทยเข้าไปด้วย เช่น การแต่งประโยคก็ดี ลักษณะนามก็ดี เรียกได้ว่าผู้เรียนจะเป็นได้ทั้งผู้ตั้งคำถาม ผู้หาคำตอบ และผู้ถ่ายทอด ในเวลาเดียวกันอย่างมีคุณภาพ

    สำหรับพฤติกรรมของนักเรียนวัยมัธยมศึกษาตอนต้น ตามธรรมชาติของเด็กวัยนี้ มักจะเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง ดังนั้นทางโรงเรียนจึงมีพื้นที่ให้เด็กได้ใช้อุดมการณ์ (Idea) ของตน มาเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้วิชาการไปพร้อมๆกัน เช่น การส่งเสริมให้นักเรียนจัดแสดงผลงาน / นิทรรศการด้วยตนเอง ซึ่งจากกิจกรรมนี้ เด็กๆ จะได้เสริมทักษะ ทั้งเรื่องการหาข้อมูลวิชาการด้วยตนเอง การใช้จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่นนี้ เด็กจะได้รู้จักวิธีการหาข้อมูลที่ตนสงสัย และรู้จักการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ พร้อมทั้งการใช้เทคโนโลยีควบคู่กันไป

2. กระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบสองภาษา English Program

โรงเรียนได้จัดวิชา / คาบเรียน ชั่วโมงครูต่างประเทศ ในอัตราส่วน ร้อยละ 50 ของการเรียนทั้งหมด ด้วยหลักสูตรจากประทศแคนนาดา มาผสมผสานกับหลักสูตรของประเทศไทย สอนโดยครู Native English Speaker ที่มีเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ดึงดูดความสนใจของนักเรียน เรียนรู้เนื้อหาวิชาการของต่างประเทศไปพร้อมกับ เนื้อหาวิชาการของไทยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดหลักสูตร และร้อยเรียงจากง่ายไปยากตามลำดับ เช่น ครูไทยสอนพยัญชนะไทย ครูต่างประเทศจะสอน ตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยเด็กๆ จะรู้สึกว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาของเขาเอง และใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านกิจกรรม Circle time ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะทำซ้ำ ทำย้ำ ทำทวนหลายๆ รอบ จึงช่วยให้ภาษาอังกฤษได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ซึ่งแต่ละชั้น จะมีการเน้นพัฒนาทักษะที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้